วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หลักฐานทางประวัติศาสตร์


หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย


เมื่อศึกษาหนังสือประวัติศาสตร์ไทย มักจะพบว่ามีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไทยอยู่หลายเรื่องที่ผู้ศึกษาต้องการรู้ในรายละเอียด แต่หาคำตอบได้ค่อนข้างยากว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการมีหลักฐานและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างน้อย และไม่สมบูรณ์ครบถ้วนเหมือนกับบางชาติ เช่น ประเทศจีน ซึ่งมีหลักฐานและข้อมูลที่สมบูรณ์สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้มาก
การที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยมีน้อย อาจเป็นเพราะคนไทยไม่นิยมการจดบันทึกและหลักฐานที่มีอยู่ก็อาจถูกทำลายไปเพราะสงคราม หรือเกิดความเสียหายเพราะอากาศร้อนชื้น หรือขาดการเก็บรักษาที่ดีทำให้หลักฐานชำรุดสูญหายได้
อย่างไรก็ตาม แม้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษรจะมีอยู่ไม่มาก แต่เราก็สามารถใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ มาช่วยในการทำการศึกษาค้นคว้าได้ เช่น หลักฐานของชาวต่างชาติที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้ รวมทั้งหลักฐานประเภทโบรณสถาน โบราณวัตถุ ภาพถ่าย หรือหลักฐานทางโบราณคดี เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประวัติศาสตร์ไทยมีความสำคัญและทรงคุณค่าแก่การศึกษาต่อไป
๑.ลักษณะของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย
๑) หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ หลักฐานที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงบนวัสดุที่คงทน เช่น แผ่นหิน ใบลาน กระดาษ เป็นต้น โดยสามารถแบ่งออกเป็นศิลา จารึก พระราชพงศาวดาร ตำนาน หนังสือราชการ เอกสารส่วนบุคคล บันทึกของชาวต่างชาติ จดหมายเหตุ เป็นต้น ซึ่งจะกล่าวพอสังเขป ดังนี้
(๑) จารึกหรือจาร มีอยู่หลายลักษณะ ที่สลักเป็นตัวอักษรลงบนแผ่นหรือแท่งหิน เรียกว่า “ศิลาจารึก” จารึกลงบนแผ่นทองคำเรียกว่า “จารึกลานทอง” ที่จารึกลงบนแผ่นเงินเรียกว่า “จารึกลานเงิน” ที่จารลงบนใบลานเรียกว่า “หนังสือใบลาน” และยังมีการพบจารึกที่ฐานพระพุทธรูปอีกด้วย
preview_html_m577e7380จารึกลานทอง พบที่วัดส่องคบ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท
จารึกด้วยอักษรขอม – อักษรไทยสมัยอยุธยา พ.ศ.๑๙๕๑
จากจารึกที่มีอยู่หลายลักษณะนั้น จารึกบนแท่งหินหรือศิลาจารึกมีความคงทนมากที่สุด อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป ศิลาจารึกย่อมมีการแตกหรือบิ่น ตัวอักษรชำรุดและลบเลือนไปตามกาลเวลา จึงทำให้ข้อมูลบางส่วนขาดหายไป แต่ถือว่าศิลาจารึกมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ เนื่องจากทำขึ้นในช่วงเวลานั้นโดยผู้เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับเรื่องนั้นโดยตรง
(๒) พระราชพงศาวดาร เป็นการจดบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ โดยเขียนลงบนสมุดไทย หรือกระดาษของไทยที่ใช้กันในสมัยก่อน การเขียนพระราชพงศาวดารเริ่มขึ้นในสมัยอยุธยาเรื่อยมาจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๕ พระราชพงศาวดารที่มีอยู่ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประดิษฐ์อักษรนิติ์ หรือเรียกกันสั้นๆว่า “ฉบับหลวงประเสริฐฯ” ซึ่งถือเป็นพระราชพงศาวดารที่เก่าแก่ที่สุดที่มีเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับบริติชมิวเซียม ซึ่งตั้งชื่อตามสถานที่พบ คือ บริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เพราะมีพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปรากฏอยู่ เนื่องจากทรงร่วมชำระด้วย เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๕ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ เป็นต้น
(๓) ตำนาน หมายถึง การเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของบุคคล โบราณสถาน โบราณวัตถุในอดีตที่สืบทอดต่อกันมา โดยการบอกเล่า จดจำ และมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในภายหลัง สำหรับเรื่องราวที่เล่ามีทั้งเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น ตำนานมูลศาสนา สังคีติยวงศ์รัตนพิมพวงศ์ (ตำนานพระแก้วมรกต) สิหิงคนิทาน (ตำนานพระพุทธสิหิงค์) หรือเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่ เช่น ตำนานจามเทวีวงศ์ ตำนานเมืองเงินยาง เชียงแสน ำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) หรือเกี่ยวกับนิทาน ความเชื่อ ซึ่งอาจมีเค้าความจริงทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง โดยอาจเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ วีรบุรุษ บ้านเมือง สถานที่ในแต่ละยุคสมัยเข้าไว้ด้วยกัน เช่น เรื่องพระร่วง ท้าวแสนปม เป็นต้น
ตำนานจัดว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์น้อย เพราะไม่ทราบว่าใครแต่ง หรือแต่งขึ้นเมื่อใด และมีหลักฐานอ้างอิงอย่างไร รวมทั้งความไม่แน่นอนชัดเจนของตัวบุคคล เวลา และสถานที่ที่กล่าวถึง นอกจานี้ การเล่าต่อๆกันมาอาจมีการแต่งเติมในภายหลัง ซึ่งอาจทำให้เรื่องที่เล่าในแต่ละครั้งเปลี่ยนแปลงไปได้
(๔) เอกสารส่วนบุคล เป็นบันทึกส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ ถือว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีประโยชน์มาก เอกสารส่วนบุคคลที่สำคัญ เช่น จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ ๕ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และบันทึกของคณะราษฎรหลายท่านที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้น
(๕) หนังสือราชการ เป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการด้านการจัดการปกครองที่ทางรัฐมีต่อส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หนังสือราชการมีอยู่หลายลักษณะ เช่น หมายรับสั่ง หนังสือสั่งราชการ รายงานการประชุมต่างๆ พระบรมราโชวาท เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ เพราะเป็นบันทึกของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง
หนังสือราชการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นของสมัยรัตนโกสินทร์เกือบทั้งสิ้น ส่วนหนังสือราชการที่มีมาแต่ครั้งโบราณได้สูญหายไปเกือบหมดแล้ว โดยหนังสือราชการที่เป็นสมุดไทยที่ยังหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันจะเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ส่วนหนังสือราชการที่เป็นสมุดฝรั่ง โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
(๖) บันทึกของชาวต่างชาติ เป็นเอกสารของชาวต่างชาติที่เขียนหรือบันทึกเกี่ยวกับเมืองไทย อาจอยู่ในรูปของบันทึกประจำวัน การเล่าเรื่อง หรือจดหมายเหตุ ซึ่งนับว่ามีคุณค่ามากในทางประวัติศาสตร์ โดยบางเรื่องอาจให้ข้อมูลนอกเหนือจากที่มีอยู่แล้ว หรือบางเรื่องอาจเป็นการเสริมข้อมูลที่ไทยมีอยู่ เช่น บันทึกของชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นบันทึกของจีน โปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น รายงานของพ่อค้า นักการทูต นักผจญภัย หมอสอนศาสนา ซึ่งให้ประโยชน์เป็นอย่างมากเกี่ยวกับอยุธยา หรือสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น จดหมายเหตุลาลูแบร์ของซิมองค์ เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาในเมืองไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เล่าเรื่องกรุงสยามของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ เป็นต้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น จัดว่าเป็นตัวอย่างหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรที่ถือว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และใช้ศึกษาค้นคว้านอกเหนือจากหลักฐานของไทยที่มีอยู่แต่เดิม
ตัวอย่างหลักฐานลายลักษณ์อักษรสมัยต่างๆ
ตัวอย่างหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรในช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์ไทยมีแตกต่างกัน ได้แก่
ตัวอย่างหลักฐานลายลักษณ์อักษรจำแนกตามสมัย
สมัยสุโขทัย หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่พบมากค ือ ศิลาจารึก เช่น ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ หรือศิลาจารึกพ่อขุนรายคำแหง ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ หรือศิลาจารึกวัดศรีชุม ศิลาจารึกหลักที่ ๓ หรือศิลาจารึกนครชุม ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ศิลาจารึกวัดอโสการาม ศิลาจารึกวัดบูรพาราม ศิลาจารึกวัดเขากบ เป็นต้น
สมัยอยุธยา หลักฐานลายลักษณ์อักษรสมัยอยุธยา คือ พระราชพงศาวดารซึ่งเขียนลงบนสมุดไทย สมุดไทยบางฉบับยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ หลักฐานลายลักษณ์อักษรอื่นๆ สมัยอยุธยา เช่น กฎหมายสมัยอยุธยา (กฎหมายตราสามดวง) เอกสารคำให้การของคนสมัยอยุธยา เช่น คำให้การขุนหลวงหาวัด บันทึกของชาวต่างชาติ เช่น จดหมายเหตุลา ลูแบร์ หรือพ่อค้าต่างชาติที่เดินทางเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพระราชพงศาวดารของเพื่อนบ้านที่กล่าวถึงเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา เช่น พระราชพงศาวดารของพม่า เขมร เป็นต้น
สมัยธนบุรี หลักฐานลายลักษณ์อักษรสมัยธนบุรีที่สำคัญ คือ พระราชพงศาวดาร เอกสาราชการ เช่น หมายรับสั่ง จดหมายเหตุโหร บันทึกของต่างชาติ เช่น ทางการจีนบันทึกเรื่องราวการติดต่อกับไทยสมัยธนบุรีไว้ รวมทั้งบันทึกของมิชชันนารีชาวตะวันตก เป็นต้น
สมัยรัตนโกสินทร์ หลักฐานลายลักษณ์อักษรในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑-๕ หมายรับสั่ง หนังสือสั่งราชการ จดหมายเหตุรายวันทัพ เอกสารการประชุม เช่น รายงานการประชุมเสนาบดีสภารัชกาลที่ ๕ รายงานการประชุมอภิรัฐมนตรีสมัยรัชกาลที่ ๗ เอกสารส่วนบุคคล เช่น จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (สมัยรัชาลที่ ๑) พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๔ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน รัชกาลที่ ๕ , ๖ และ ๗ บันทึกของบุคคลในคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เช่น บันทึกของพระยาทรงสุรเดช เอกสารที่เขียนโดยชาวต่างชาติ เช่น บันทึกของเซฮร จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาสมัยต้นรัชกาลที่ ๔ หนังสือพิมพ์ เช่น บางกอกรีคอร์เดอร์ เป็นต้น
๒) หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานประเภทโบราณสถาน โบราณวัตถุ เช่น โบสถ์ วิหาร โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจัดว่าเป็นหลักฐานที่มีคุณค่า และสามารถใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างมาก
ในปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น และมนุษย์รู้จักนำเอาเทคโนโลยีอันทันสมัยเหล่านี้มาใช้ในการบันทึกเหตุการณ์ สถานที่ ทั้งที่เป็นภาพเสียง หรือทั้งภาพและเสียง เช่น ภาพถ่าย แถบบันทึกเสียง วีดิทัศน์ รายงานข่าวของสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งจัดว่าเป็นหลักฐานที่ให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ และสามารถเก็บรายละเอียดของเหตุการณ์ สถานที่ได้เป็นอย่างดีก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เช่นเดียวกัน
ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ควรใช้หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรประกอบกับหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรประเภทอื่นๆ และควรมีการตรวจสอบด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
๒.ประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย
หลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นร่องรอยของมนุษย์ที่หลงเหลืออยู่จากอดีต หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีทั้งวัตถุ เอกสาร จารึก โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑) หลักฐานชั้นต้น หรือหลักฐานปฐมภูมิ คือหลักฐานที่เป็นของร่วมสมัย เช่น เอกสารหรือบันทึกที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเหตุการณ์ รวมทั้งมีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้นโดยตรง เช่น ภาพถ่ายวัตุร่วมสมัย เช่ย โบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ จารึก เป็นต้น ดังนั้น หลักฐานชั้นต้นจึงถือว่ามีความน่าเชื่อถือมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาควรมีความระมัดระวังในการใช้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากหลักฐานบางอย่างมักจะกล่าวถึงแต่เรื่องราวในด้านดีหรือไม่เป็นกลาง โดยใส่อคติลงไปในการเขียน ดังนั้น เพื่อให้เรื่องราวมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น จึงต้องมีการตรวจสอบ ประเมินหลักฐาน โดยใช้วิธีการทางประวัติศาตร์
๒) หลักฐานชั้นรอง หรือหลักฐานทุติยภูมิ คือ หลักฐานที่เขียนขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น โดยผู้บันทึกอาจได้ยินคำบอกเล่าผ่านบุคคลอื่น หรือเป็นหลักฐานที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่อาศัยข้อมูลจากหลักฐานชั้นต้น เช่น หนังสือ งานวิจัย บทความ รวมทั้งหลักฐานที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร เช่น ภาพยนตร์ ละคร ข่าวโทรทัศน์ เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่า หลักฐานทั้งสองประเภทสามารถใช้เป็นข้อมูลได้ทั้งหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรอง ซึ่งในการศึกษาค้นคว้าหลักฐานจะต้องมีการตรวจสอบและประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานนั้นๆ เสียก่อน เนื่องจากหลักฐานทั้ง ๒ ประเภท อาจให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและบิดเบือนไปจากความเป็นจริงได้
๓.ความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย
แม้ว่าหลักฐานทางประวัติศาตร์จะไม่ค่อยสมบูรณ์ แต่ก็มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาก เพราะหลักฐานข้อมูลทั้งหลายทำหรือเขียนขึ้นโดยผู้เกี่ยวข้องโดยตรง หรือมีความใกล้ชิดกับเหตุการณ์หรือเรื่องราวทั้งหลายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ หลักฐานข้อมูลเหล่านั้นยังสะท้อนให้เห็นโลกทัศน์ วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนความเชื่อของคนในสมัยก่อนด้วย
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะช่วยกันเก็บรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้ให้ดี รวมทั้งช่วยกันสืบค้นว่ายังมีหลักฐานของไทยเก็บไว้อยู่ที่ใดอีกหรือไม่ เพื่อจะได้นำมาศึกษาค้นคว้าและเผบแพร่ต่อไป อันจะช่วยทำให้ประวัติศาสตร์มีความชัดเจน ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
สำหรับหลักฐานของชาวต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทย ก็สามารถให้ข้อมูลที่หลากหลายมากกว่าพงศาวดารหรือตำนาน แต่ถึงแม้จะมีความสำคัญมากเพียงใดก็ตาม เมื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยก็ควรคำนึงว่า ชาวต่างชาติมีความแตกต่างจากคนไทยทั้งทางด้านศาสนา วัฒนธรรมประเพณี โลกทัศน์ วิถีชีวิต ด้วยเหตุนี้ เรื่องที่ได้มีการบันทึกไว้จึงเป็นมุมมองของชาวต่างชาติที่แตกต่างไปจากคนไทย โดยเรื่องหรือเหตุการณ์ที่คนไทยปฏิบัติกันเป็นปกติ อาจกลายเป็นเรื่องไม่ดีในสายตาของชาวต่างชาติก็เป็นได้
๔.แหล่งรวบรวมหลักฐานประวัติศาสตร์ไทย
แหล่งรวบรวมหลักฐานประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญ คือ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติทั้งในกรุงเทพมหานาคร และต่างจังหวัด ซึง่รวบรวมเอกสาร ตัวเขียนที่เป็นสมุดฝรั่ง ภาพถ่ายเก่า ส่วนสำนักหอสมุดแห่งชาติเป็นที่เก็บเอกสารตัวเขียนที่เป็นสมุดไทย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งในพระนครและต่างจังหวัดเป็นสถานที่ที่มีศิลาจารึก โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเก็บไว้จำนวนมาก นอกจากนี้หอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยต่างๆ บางแห่งก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เก็บไว้เช่นกัน
หลักฐานทางประวัติศาตร์ไทยส่วนหนึ่งมีการพิมพ์เผยแพร่โดยหลายหน่วยงาน ซึ่งทำให้เกิดความสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้า รวมทั้งมีการปริวรรตหรือถอดเป็นภาษาปัจจุบันด้วย หน่วยงานสำคัญที่เป็นแหล่งพิมพ์เผยแพร่หลักฐานประวัติศาสตร์ไทย คือ กรมศิลปากร คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนสำนักพิมพ์เอกชนทั้งหลาย
การใช้หลักฐานทางประวัติศาตร์ที่เป็นหลักฐานชั้นต้นใช้ได้สะดวกพอสมควร แต่บางส่วนอาจใช้จากฉบับสำเนา เพราะต้นฉบับเดิมกระดาษกรอบและขาดง่าย เนื่องจากอากาศร้อนชื้นและมีอายุมาก ดังนั้น การใช้จึงต้องระมัดระวัง และต้องช่วยกันถนอมรักษา เพราะหลักฐานหล่านี้เป็นสมบัติที่สำคัญของชาติ ไม่สามารถจะหามาใหม่ทดแทนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีที่แวะมาเยี่ยม web blog ทักษะการจัดการความรู้ (KM) ทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้เรียนศตวรรษที่ 21 วิชาประวัติศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม ขอบคุณคุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา และเพื่อนๆ ที่แนะนำให้คำปรึกษา